เปิด ‘รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ5G’ คันแรกของไทย ยกระดับยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับในประเทศ
รัฐมนตรี อว.เปิด “รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ” คันแรกของไทย วิ่งให้บริการฟรี ใช้งานผ่านแอปฯ รอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เผย กสทช.ให้ทุน มจธ .27 ล้าน ทำวิจัยร่วมกับ TKC – เจ็นเซิฟ พัฒนา 2 ปีสำเร็จ หวังให้เป็นต้นแบบช่วยกระตุ้นยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับในอนาคต ลดมลพิษให้อยุธยาเป็นเมืองน่าเที่ยวระดับสากล
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีเปิดตัวรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ เทคโนโลยี 5G คันแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเปิดทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกบนถนนสาธารณะ ให้บริการบริเวณรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ( บึงพระราม ) เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2567 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2567
โครงการรถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ 5G นี้ เป็นผลงานจากการศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช. )ให้ทุนจำนวน 27 ล้านบาท มอบหมายให้ ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center ( MOVE ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ( มหาชน ) หรือ TKC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ 5G และระบบเทคโนโลยีดิจิทัล นำองค์ความรู้ทางด้านการเชื่อมต่อระบบสื่อสารเทคโนโลยีที่เรียกว่า C-V2X หรือ Cellular Vehicle-to-Everything บนเครือข่าย 5G มาประยุกต์ใช้
ขณะที่บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด เชี่ยวชาญด้านระบบหุ่นยนต์และยานยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ และ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด ( มหาชน ) ผู้ผลิตรถโดยสาร EV ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 20 เดือน ( พฤศจิกายน 2565 – กรกฎาคม 2567 )
สำหรับรถมินิบัสไฟฟ้าเคลื่อนที่อัตโนมัติ ( ไร้คนขับ ) เป็นรถขนาด 20 ที่นั่ง ให้บริการฟรีไม่มีการเก็บค่าโดยสาร โดยใช้บริการผ่านการสื่อสารเครือข่าย 5G กับแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้น ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเรียกรถ และจองที่นั่งได้ล่วงหน้า รวมทั้งสามารถดูตำแหน่งปัจจุบัน และเวลาที่รถจะมาถึง
ในระยะแรกจะมีการทดลองวิ่งให้บริการแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ในเส้นทางรอบบึงพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันศุกร์ – วันอังคาร เวลา 09.00 – 17.00 น. โดยสามารถเรียกรับบริการ ผ่านแอปพลิเคชัน “5G Auto Bus” ได้ ณ ป้ายจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ 4 แห่ง รอบบึงพระราม ได้แก่ 1.ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา 2.วัดมหาธาตุ 3.วัดธรรมิกราช 4.วัดพระราม รวมระยะทางทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยานยนต์ไร้คนขับเป็นอีกเรื่องหนึ่งของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ส่วนมากมักอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าไทย สำหรับประเทศไทยถ้าพูดถึงยานยนต์ไร้คนขับถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ๆ แต่ไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีนี้ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี แนวทางหนึ่งของการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวทันต่อการปรับตัวสู่ยุคยานยนต์ไร้คนขับ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคอันใกล้ คือการสร้างหรือต่อยอดองค์ความรู้ สร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ กสทช.จึงมอบหมายให้ มจธ.ร่วมกับภาคเอกชนศึกษาวิจัย “โครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวในเขตโบราณสถาน” มุ่งเน้นให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
“โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ( กทปส. ) 27 ล้านบาท เริ่มโครงการนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับในไทยแล้ว สิ่งที่จะได้ตามมา คือช่วยลดมลพิษจากการสันดาปของเครื่องยนต์ และมลพิษทางเสียงจากรถขนส่งนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปจำนวนมากในเขตโบราณสถาน ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เมืองประวัติศาสตร์อย่างอยุธยาเป็นเมืองที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวระดับสากล ช่วยยกระดับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น” นายไตรรัตน์กล่าว
ด้าน ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE (Mobility & Vehicle Technolgy Research Center) มจธ.ให้สัมภาษณ์ ว่า มจธ.ในฐานะ หัวหน้าโครงการฯ ในส่วนของการพัฒนารถบัสไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 5G ต้นแบบคันนี้ ประกอบด้วยการวิจัยพัฒนาในหลายส่วน ทั้งการพัฒนาและติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเข้าไปในรถบัสไฟฟ้าซึ่งถูกผลิตในประเทศไทย การพัฒนาระบบควบคุมรถจากข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเซนเซอร์ การทำแผนที่ความละเอียดสูงในเส้นทางวิ่งที่กำหนด และการเขียนโปรแกรมในการควบคุมและสั่งการรถบัส โดยรถบัสมีความสามารถการขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 3 ซึ่งจะขับเคลื่อนได้เองตามเส้นทางวิ่งที่กำหนดไว้ แต่ยังมีความจำเป็นต้องมีพนักงานขับขี่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยเพื่อความปลอดภัยและการตัดสินใจในบางสถานการณ์ รวมไปถึงการจัดทำระบบสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย 5G ที่จะทำให้รถสามารถสื่อสารกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จองที่นั่งผ่านแอปพลิเคชันได้ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งใน มจธ.และกับภาคีภายนอก นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับคันแรกที่พัฒนาจากหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนไทยทั้งสิ้น
“สำหรับโครงการนี้จะเป็นการสื่อสารแบบ C-V2X คือ Cellular Vehicle-to-Everything คือทำให้รถสามารถรับส่งข้อมูลผ่านระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กับ ศูนย์ข้อมูล (Data center) ซึ่งในเบื้องต้นได้ทำเป็นแอปพลิเคชันบนป้ายจุดจอดรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียกให้รถมารับที่จุดจอดที่กำหนดไว้ ระบบที่พัฒนาขึ้นมานี้สามารถต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อยานยนต์กับการใช้งานด้านอื่นอีกมากมายในอนาคต ได้แก่ การเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้โดยสารหรือผู้ให้บริการ การเชื่อมต่อกับคนเดินเท้าหรือยานยนต์คันอื่น รวมถึงป้ายสัญญาณไฟจราจร ตลอดจนการรายงานอุบัติเหตุบนเส้นทาง ที่ทำให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” ดร.ยศพงษ์กล่าว
ดร.ยศพงษ์ กล่าวอีกว่าโครงการนี้ นอกจากประเด็นหรือหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับต่อยอดการวิจัยและพัฒนายานยนต์ให้เหมาะสมกับประเทศไทยแล้ว ผลพลอยได้ที่ชัดเจนจากการทำโครงการนี้ คือการทำให้เห็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด ในด้านนโยบาย ด้านมาตรฐาน และด้านอื่น ๆ ของประเทศไทยในการพัฒนา “ยานยนต์เชื่อมต่อและขับเคลื่อนอัตโนมัติ” ซึ่งถือเป็นยานพาหนะเพื่อการเดินทางสมัยใหม่ การทดลองวิ่งให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ได้หันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป และโครงการนี้เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นร่วมกันผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ และยกระดับการท่องเที่ยวไร้มลพิษไปอีกขั้นอย่างแท้จริง
นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท TKC ในฐานะตัวแทนในส่วนภาคเอกชน ให้สัมภาษณ์ว่า TKC ได้รับโอกาสจากทาง มจธ. ให้เข้ามาร่วมงานในส่วนของงานวิจัย (R&D) ในการดีไซน์ตัวระบบ ซึ่ง TKC มีจุดแข็งเรื่องไอที การสื่อสาร และซอฟต์แวร์ จึงใช้จุดแข็งมาพัฒนาซอฟต์แวร์ในระบบสื่อสารผ่านมือถือ 5G เพราะรถบัสจะวิ่งได้ต้องมีการสื่อสารตลอดเวลา เพื่อวิ่งตามช่องทางที่กำหนด ยอมรับว่าแรก ๆ มีข้อที่ต้องแก้ไขมากมาย เพราะเป็นรถบัสไร้คนขับและยังเป็นอีวีคันแรกในประเทศไทยด้วย
“นอกเหนือจากนี้ TKC ยังได้รับหน้าที่ทำแท่นชาร์จอีวี ร่วมกับ มจธ.ซึ่งเป็นแท่นชาร์จ ที่ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำโดยฝีมือคนไทยทั้งหมด ใช้วิศวกรคนไทยล้วน ๆ จาก มจธ.และ TKC ร่วมกัน ผมเชื่อว่าเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน คือรถยนต์อีวีกึ่งไร้คนขับ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้รับโอกาสได้ทุนจาก กองทุน กทปส. โอกาสที่คนไทยจะได้ริเริ่มทำวิจัยออกมาเป็นโปรดักส์หนึ่งโปรดักส์แทบไม่มีเลย เพราะต้องลงทุนมหาศาล ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ทำออกมาได้ และเป็นรถบัสอีวีไร้คนขับคันแรกของไทย ส่วนโอกาสจะขยายหรือไปต่อ เวลานี้มีกระทรวง อว.ได้มองเห็นพลังของเด็กไทย คนไทย อาจนำไปต่อยอดทำสเกลให้ใหญ่ขึ้น แล้วเป็นการสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับที่เป็นอีวี ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์แน่นอนให้มีโอกาสเติบโตได้แน่นอน” นายสยามกล่าว