เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่นฯ(TKC) จ่อขาย IPO 78 ล้านหุ้น หลังก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง
บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC หนึ่งในผู้นำในธุรกิจให้บริการออกแบบ วางระบบ และบริการที่เกี่ยวข้องในงานวิศวกรรมสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ เปิดเผยว่า ล่าสุด ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ภายในปี 2565
นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “TKC” เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีที ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 78 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.00% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 1.00 บาทต่อหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในโครงการเกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคม ระบบโครงข่ายสื่อสัญญาณ (Transmission Networks) ระบบศูนย์ข้อมูลหลักและศูนย์ข้อมูลสำรอง (Data Center) ระบบคลาวด์ (Cloud) ระบบ Smart Solutions ระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัลและระบบตรวจสอบเฝ้าระวังและการบริหารความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Security) รวมถึงงานบริการและบำรุงรักษาต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง
TKC เป็นผู้เชี่ยวชาญและชำนาญด้านการวางระบบเครือข่ายสื่อสารและเทคโนโลยี ดำเนินธุรกิจให้บริการรับเหมาออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบงานวิศวกรรมในสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และ ระบบความปลอดภัยสาธารณะ โดยบริษัทฯ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และเครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลก เช่น Huawei, Nokia, Cisco, Verint, Oracle, Netka System, XOVIS, Fortinet เป็นต้น ให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โดยลักษณะการให้บริการแบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ โครงการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project หรือ งานโครงการ) งานบริการวิศวกรรมและงานบำรุงรักษา และงานจัดจำหน่ายอุปกรณ์ โดยบริษัทฯ จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ สินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท ไอบีเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (IBS) และบริษัท พาราไดม์ เทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด (PTS) ซึ่งประกอบธุรกิจที่เสริมธุรกิจของบริษัทฯ โดยโครงสร้างรายได้ในงวด 6 เดือนแรกปี 2564 มาจากงานโครงการมากกว่า 70% รายได้จากงานบริการและบำรุงรักษากว่า 29% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากงานจัดจำหน่าย
TKC มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้ว 222 ล้านบาท และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการที่เหลือหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และทุนสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย
สำหรับฐานะทางการเงินตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2563) บริษัทฯ มีรายได้รวมในปี 2561 – 2563 อยู่ที่ 3,669.65 ล้านบาท 4,907.25 ล้านบาท และ 2,881.92 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 216.50 ล้านบาท 423.03 ล้านบาท และ 232.85 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 1,374.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.52 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 152.62 ล้านบาท
TKC มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2561 -2563 และงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิ ร้อยละ 5.90 ร้อยละ 8.62 ร้อยละ 8.09 และร้อยละ 11.10 ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนที่ดีทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น
ด้านโครงสร้างของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มนายสยาม เตียวตรานนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 62.25% และ 46.06% ตามลำดับ และบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 34.00% และ 25.16% ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มปี 2564-2565 คาดว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะขยายตัว 3-5% โดยได้รับอานิสงค์จากการสนับสนุนของภาครัฐตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้มีการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และการก่อสร้างระบบเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของความต้องการใช้ข้อมูล Non-Voice ที่ขยายตัวจากการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้
รวมถึงรายได้จากธุรกิจ Fixed Broadband ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริการที่ประยุกต์ใช้ 5G มีแนวโน้มขยายมากขึ้น เช่น บริการ Cloud Data Center ยานยนต์ไร้คนขับ และ Smart Solutions ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้ธุรกรรมออนไลน์ การเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยใช้ Cloud การใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีความต้องการด้าน Cyber Security มากขึ้นเพื่อป้องกันข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์
ที่มา: www.moneyclub.asia